มาดู กลโกงแอปดูดเงินออนไลน์ พร้อมแนวทางป้องกัน จากทางสมาคมธนาคารไทยที่ได้ออกมาเผยข้อมูลกลโกงมิจฉาชีพใช้แอปฯดูดเงินสร้างความเสียหายต่อประชาชน แนะวิธีสังเกตและวิธีการตรวจสอบความผิดปกติ ด้านตำรวจสอบสวนกลางสรุป 7 ช่องทางมิจฉาชีพส่งลิงก์หลอกดูดเงิน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้…
กลโกงแอปดูดเงินออนไลน์ พร้อมแนวทางป้องกัน
เมื่อเร็วๆนี้ทางประธานสำนักงานระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมิจฉาชีพหลอกลวงเอาเงินจากประชาชนแนบเนียนขึ้น และมีเทคนิคที่หลากหลาย ส่งผลให้มีผู้เสียหายจากการตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 500 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สมาคมธนาคารไทยจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ยกระดับมาตรการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพเพื่อช่วยประชาชน โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือ และผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้ร่วมกันดำเนินการดังนี้
- ตรวจสอบปิดไลน์ปลอมของธนาคาร ควบคุมและจัดการชื่อผู้ส่ง SMS (SMS Sender) ปลอม
- ปิดกั้น URL ที่เป็นอันตราย
- หารือธนาคารสมาชิกพัฒนาระบบความปลอดภัยแชร์เทคนิคและแนวทางป้องกันภัยร่วมกัน
นอกจากนี้ หากร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีผลบังคับใช้ จะช่วยให้การดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพทำได้รวดเร็วขึ้น ระงับความเสียหายได้อย่างทันท่วงที สามารถบล็อกบัญชีต้องสงสัยได้ โดยไม่ต้องรอแจ้งความ ด้านนายชัชวัฒน์ อัศวรักวงศ์ ประธานกรรมการ ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัย เทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) กล่าวว่า การหลอกลวงจากแอปฯ ดูดเงิน ส่วนใหญ่มี 3 รูปแบบ ดังนี้
การหลอกลวงจากแอปฯ ดูดเงิน ส่วนใหญ่มี 3 รูปแบบ
- หลอกล่อด้วยรางวัลและความผิดปกติของบัญชีและภาษี โดยคอลเซ็นเตอร์โทร.มาหลอกด้วยสถานการณ์ที่ ทำให้กังวล โดยส่ง SMS ใช้ชื่อเหมือนหรือคล้ายหน่วยงานต่างๆ และโซเชียลมีเดียหลอกให้เงินรางวัลและเงินกู้ หรือโน้มน้าวชวนคุยหาคู่ และให้เพิ่ม (Add) บัญชีไลน์ปลอมของมิจฉาชีพ
- หลอกให้ติดตั้งโปรแกรม หลอกขอข้อมูล และให้ทำตามขั้นตอนเพื่อติดตั้งแอปปลอม (ไฟล์ติดตั้งนามสกุล .apk) เพื่อจะได้ควบคุมการสั่งงานมือถือแทนผู้ใช้งานได้ และ
- ควบคุมมือถือของเหยื่อและใช้ประโยชน์ ด้วยการใช้แอปปลอมเชื่อมต่อไปยังเครื่องของมิจฉาชีพ เพื่อเข้าควบคุมและสั่งการมือถือของเหยื่อ เพื่อโอนเงิน และขโมยข้อมูลต่างๆผู้ที่หลงกลตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ให้รีบดำเนินการปิดเครื่องทันที ด้วยวิธีกด Force-Reset คือการกดปุ่ม Power และปุ่มลดเสียง พร้อมกันค้างไว้ 10-20 วินาที แต่ถ้าทำวิธีนี้ไม่สำเร็จ ให้ตัดการเชื่อมต่อของโทรศัพท์ด้วยการถอดซิมการ์ด ปิด Wi-Fi หลังจากนั้นให้ติดต่อธนาคารและแจ้งความทันที”
ในส่วนของตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ได้สรุปดังนี้
7 ช่องทางที่มิจฉาชีพใช้ส่งลิงก์หลอกดูดเงิน
- SMS ปลอม มิจฉาชีพจะส่งลิงก์โดยมักอ้างว่าคุณได้รับสินเชื่อ คุณได้รับรางวัลจากกิจกรรม หรือหลอกลงทะเบียนรับสิทธิ ซึ่งจะหลอกให้กรอกข้อมูลและติดตั้งไฟล์ที่ไม่ประสงค์ไว้,
- ไลน์ปลอม มิจฉาชีพจะสร้าง LINE Official Account ปลอมขึ้นมา ใช้รูปโปรไฟล์ให้เหมือนกับของจริง อ้างเป็นตำรวจ ธนาคาร หรือหน่วยงานรัฐ และบริษัทเอกชน หลอกให้เหยื่อโอนเงิน หรือหลอกขอข้อมูล และให้กดลิงก์สูญเงินไปจำนวนมาก
- อีเมลปลอม โดยมิจฉาชีพจะแอบอ้างชื่อบริษัท แจ้งให้ชำระใบแจ้งหนี้ที่ยังไม่ได้ชำระเงิน และมีลิงก์ไปเว็บไซต์ปลอม หลอกให้กรอกข้อมูล และทำรายการชำระเงิน
- เว็บไซต์ปลอมมักจะแอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐ และบริษัทเอกชน หลอกให้ชำระค่าบริการต่างๆ และมักหลอกกดลิงก์ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน จนเงินหายหมดบัญชี
- ลิงก์ใต้คอมเมนต์ หรือไวรัสโฮคส์ (Virus hoax) เป็นลิงก์ข่าว หรือคลิปวิดีโอ ที่สร้างชื่อหน้าเว็บลิงก์เหมือนสื่อหลัก เพื่อหลอกให้คิดว่าเป็นการแชร์ลิงก์ที่มีต้นตอมาจากสื่อหลักมีความน่าเชื่อถือ
- โฆษณาบนสื่อโซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์ ซึ่งมีบางเว็บที่ไม่พึงประสงค์ใช้ในการหลอกล่อโฆษณาการพนัน และยิงแจ้งเตือนโฆษณา เพื่อหลอกให้คนหลงเชื่อกดลิงก์ รวมถึงลิงก์ที่ติดฝังมัลแวร์
- แอปพลิเคชันที่ไม่ทราบแหล่งที่มา จะให้ดาวน์โหลดผ่านลิงก์ที่ส่งให้ ไม่ได้ดาวน์โหลดผ่านสโตร์ที่มีการตรวจสอบ เสี่ยงที่จะถูกหลอกติดตั้งแอปปลอม หรือแอปเลียนแบบกับแอปจริงให้คนหลงเชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นแอปเงินกู้ แอปพนันและแอปหาคู่เถื่อน
แก้ปัญหาแอปเหล่านี้ได้อย่างไรหากติดตั้งไปแล้ว
วิธีการตรวจแอปเหล่านี้นั้นตรวจสอบค่อนข้างทำได้ยาก เพราะ Android แต่ละรุ่นแตกต่างกันไป คุณ Narun แนะนำให้ท่านลองเข้าไปในเมนูผู้พิการ หรือ Accessibility แล้วตรวจสอบในหมวด Downloaded apps ดูว่ามีรายการแอพใดแสดงขึ้นมาบ้างหรือไม่ ถ้ามีและเปิด On อยู่ โดยที่เราไม่รู้เหตุผล ควรรีบปิดหรือถอนการติดตั้ง
หากท่านโชคร้ายกำลังเป็นเหยื่อของแอปโจรซึ่งไม่สามารถปิดหรือถอนการติดตั้งได้ ผู้เขียนมีคำแนะนำมาให้ 2 ทาง ดังนี้
1.หากท่านเป็นผู้ใช้งานปกติ ขอให้เปิด Airplane Mode โดยเร็วที่สุด เพื่อตัดสัญญาณไม่ให้โทรศัพท์สามารถเชื่อมต่อกับ Internet ได้ (รวมถึงถอดซิมและปิด Wifi หากจำเป็น) เพื่อเป็นการสกัดกั้นไม่ให้โจรสามารถเชื่อมต่อเข้ามาได้ จากนั้นนำโทรศัพท์เข้าติดต่อกับศูนย์บริการอย่างเป็นทางการของโทรศัพท์ที่ท่านใช้งานอยู่ครับ
2หากท่านเป็นนักพัฒนาหรือมีความรู้ทางเทคนิค อาจต่อสาย USB เข้ากับคอมพิวเตอร์ และเปิด Android Debug Mode จากนั้นใช้คำสั่งดังต่อไปนี้เพื่อถอนการติดตั้ง
- # ทำการตรวจสอบรายชื่อ App ที่ติดตั้งบนเครื่องทั้งหมดด้วยคำสั่ง
adb shell pm list packages - # เมื่อพบชื่อแอพโจร ให้ทำการลบออกด้วยคำสั่ง adb uninstall <package name>
- # เช่น adb uninstall com.mezwyh.owuftjkv
ก่อนจะจากกันนอกจากบทความดีๆ แล้ว วันนี้ทาง moneysabuy เราขอแนะนำ บทความดีๆเพิ่มเติมที่ ลิงค์ด้านล่างนี้ รับรองว่าท่านผู้อ่านจะไม่พลาดบทความการเงินดีๆอย่างแน่นอน…
บทความแนะนำ
- วิธีตรวจสอบร้านค้าออนไลน์ที่เป็นมิจฉาชีพ
- วิธีสมัครสินเชื่อกู้ง่ายเพื่อคนเงินเดือนน้อย
- สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อคนเงินเดือน 10000
นอกจากนี้หากท่านกำลังต้องการ สินเชื่อเงินด่วนทันใจ อนุมัติง่ายที่สุด ที่ออกมาเพื่อเป็นช่องทางสำหรับคนที่ต้องการเงินกู้จำนวนไม่มากหรือเงินด่วนที่หมุนไม่ทันสามารถเข้าถึงเงินจำนวนนี้ได้ง่ายมากขึ้น โดยท่านที่สนใจสามารถไปดูเพิ่มได้ที่ ลิงค์นี้เลย : วิธีสมัครสินเชื่อ truemoney kkp cash now เงินกู้สมัครง่ายผ่านมือถือ