เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหลายประการ ทั้งเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยขาขึ้น และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น เช่น ทองคำ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ตราสารหนี้ เป็นต้น ส่งผลให้เงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองทั้งหมด 32 แห่ง มีแนวโน้มลดลง เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี
คนไทยมีเงินฝากไม่ถึง 5,000 บาท กว่า 80% ของคนในประเทศ
ตัวเลขเงินฝากของคนไทยหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์เงินฝากที่สถาบันการเงินคุ้มครองเงินฝากให้การคุ้มครองทั้งหมด 32 แห่ง ว่า ปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง จากเดิมที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีเงินฝากอยู่ที่ 15.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 16.17 ล้านล้านบาทในปี 2565 และล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ 15.96 ล้านล้านบาท
สาเหตุของการลดลงมาจากหลายปัจจัย คาดว่ามาจากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง รวมถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนนำเงินไปใช้จ่ายหรือลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ที่มีผลตอบแทนสูงกว่า เช่น ทองคำ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือตราสารหนี้ เป็นต้น
เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า ทุกคนต่างมีเงินฝากลดลง โดยผู้ฝากเงินที่มีเงินในบัญชีไม่เกิน 5 หมื่นบาท มีการหดตัว 3.61% ณ เดือนสิงหาคมนี้ โดยมีจำนวนรวมกันประมาณ 3.4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการหดตัวที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับสิ้นปีที่แล้วที่หดตัว 0.63% คิดเป็นจำนวนเงิน 3.6 แสนล้านบาท
กลุ่มคนที่มีเงินในบัญชีน้อยกว่า 5 หมื่นบาท มีกว่า 81 ล้านคน
เป็นมากกว่า 80% ของจำนวนผู้มีเงินฝากทั้งหมด 93.46 ล้านราย และพบว่าค่าเฉลี่ยส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้ มีเงินในบัญชีน้อยกว่า 5,000 บาท กลุ่มคนที่มีบัญชีเงินฝากมากกว่า 5 หมื่นบาทแต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท มีการปรับลดลงทั้งจำนวนเงินฝากและจำนวนผู้ฝากตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เช่น บัญชีที่มีเงินฝากตั้งแต่ 2-5 แสนบาท มีจำนวนรายที่ลดลง 33% แม้แต่ผู้ฝากรายใหญ่ก็มีจำนวนเงินฝากลดลงในปีนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม คาดว่าตัวเลขติดลบดังกล่าวจะกลับมาดีขึ้นตามสถานการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะดีขึ้นใน 1-2 ปีข้างหน้า